ขยะมูลฝอยและการกำจัด


ประพันธ์ เชิดชูงาม
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ความหมายของ "ขยะมูลฝอย"

ชนิดมูลฝอยแยกตามชนิดและแหล่งกำเนิด

ปัญหาจากขยะมูลฝอย

การแยกขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด

การวางแผนการดำเนินงาน

วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน

วิธีฝังกลบขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

วิธีฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกลบบนพื้นดิน

วิธีการทำปุ๋ยหมัก

เอกสารอ้างอิง



1

ความหมายของ "ขยะมูลฝอย" ตามพระราชบัญญัติ รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 "มูลฝอย " หมายความว่า เศษกระดาษ, เศษผ้า, เศษอาหาร, เศษสินค้า, ถุงพลาสติก, ภาชนะที่ใส่อาหาร, เถ้า, มูลสัตว์ หรือ ซากสัตว์ รวมตลอดถึงสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน, ตลาด, ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น
คำว่า " ขยะ" หรือ " มูลฝอย " หรือ " ขยะมูลฝอย " เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน
คำว่า " มูลฝอย " (Solid wastes) มีความหมายครอบคลุมกว้างขวาง ซึ่งอาจหมายถึงและรวมถึงของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ หรือกระบวนการผลิตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เช่นมูลฝอยในชุมชน (Municipal solid wastes) มูลฝอยหรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial wastes), มูลฝอยติดเชื้อ (Infectious wastes) จากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล เป็นต้น   

TOP  



 

ชนิดมูลฝอยแยกตามชนิดและแหล่งกำเนิด

มูลฝอยเปียก (Garbage) - เป็นมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากการเตรียมอาหาร, การปรุงอาหาร, มูลฝอยจากตลาดสด เช่นเศษพืช ผัก, เปลือกผลไม้ ซึ่งมีความชื้นสูง เน่าบูดเกิดกลิ่นเน่าเหม็นได้ง่าย
มูลฝอยแห้ง (Rubbish) - เป็นมูลฝอยที่เผาไหม้ได้ ได้แก่ กระดาษในสำนักงาน, กระดาษหนังสือพิมพ์, หนังสือวารสาร นิตยสาร, เศษไม้, กล่องกระดาษ, เฟอร์นิเจอร์ที่เสื่อมคุณภาพและไม่ใช้แล้วเป็นต้น
เถ้าเหลือจากการเผา (Ashes) - ได้แก่กากที่เหลือจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง, ถ่านหิน, ถ่านไม้ และวัสดุอื่นที่เผาได้

ซากสัตว์ (Dead animals) - ซากสัตว์ที่ตายแล้ว เช่นสุนัข, แมว, ม้า และสัตว์อื่น ๆ เป็นขยะที่มีอันตราย ส่งกลิ่นเหม็นเป็นเหตุรำคาญ ซากสัตว์บางชนิดยังเป็นแหล่งของโรคติดต่อ สามารถแพร่เชื้อโรคมายังมนุษย์ได้อีกด้วย
ซากหรือเศษชิ้นส่วนจากยานพาหนะ (Abandoned vehicles) - เช่นซากรถยนต์ที่ไม่มีเจ้าของ, ซากรถที่ถูกทิ้งไว้ตามที่สาธารณะหรือขวางเส้นทางการจราจรทำให้สิ้นเปลืองเนื้อที่
ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม (Industrail wastes) - เช่นขยะมูลฝอยจากขบวนการผลิตสินค้า มีลักษณะที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของโรงงาน
มูลฝอยจากการก่อสร้างหรือจากการรื้อถอน (Construction and Demolition wastes) - ได้แก่ เศษอิฐ, เศษไม้, เศษโลหะ และชิ้นส่วนของคอนกรีต, ท่อน้ำ และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการกีดขวาง
มูลฝอยพิเศษ (Special wastes) - เป็นขยะมูลฝอยที่มีอันตรายอาจเป็นทั้งของแข็งและของเหลว เช่นขยะมูลฝอยจากโรงพยาบาลที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค, สารเคมี,สารกัมมันตภาพรังสีเป็นต้น
มูลฝอยที่เป็นกากจากการบำบัดน้ำเสีย (Sewage treatment residual) - เป็นขยะซึ่งผ่านขั้นตอนการบำบัดโดยแปลงสภาพจากของเหลวมาเป็นของแข็ง เช่นตะกอนจากบ่อบำบัดและถูกรีดเป็นแผ่นตะกอน ถือว่าเป็นขยะชนิดหนึ่ง อาจมีเชื้อโรคหรือสารเคมีที่มีพิษปะปนออกมาด้วย
มูลฝอยอันตรายที่เกิดจากบ้านเรือน ( Household hazardous wastes) - เป็นขยะมูลฝอย ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้งานหรือนำมาใช้ในครัวเรือนเมื่อเสื่อมสภาพหรือเลิกใช้แล้วหรือใช้หมดแล้วเหลือแต่ภาชนะจึงกลายสภาพเป็นขยะมูลฝอยอันตราย ได้แก่ หลอดไฟ, หลอดฟลูออเรสเซนต์, ถ่านไฟฉาย, สีสเปรย์, เครื่องสำอาง, กระป๋องยาฆ่าแมลง และยารักษาโรคที่หมดอายุแล้ว เป็นต้น
มูลฝอยติดเชื้อ (Infectious wastes) - เป็นสารหรือวัตถุใด ๆที่ไม่ต้องการและถูกทิ้ง เนื่องจากมีส่วนประกอบหรือถูกปนเปื้อนด้วยสิ่งที่ทำให้เกิดโรคหรือทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่นเนื้อเยื่อจากการผ่าตัด, เลือด, สิ่งขับถ่าย, น้ำมูก, น้ำเหลือง, เข็มฉีดยา, อาหารเลี้ยงเชื้อ, วัคซีนที่เสื่อมสภาพ เป็นต้น เป็นมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากโรงพยาบาล หรือสถานประกอบการทางการแพทย์ หรือสถานีอนามัย

TOP


2

ปัญหาจากขยะมูลฝอย

เกิดมลภาวะ (Pollution) - ขยะมูลฝอยที่ไม่ได้กำจัดให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล หรือปล่อยทิ้งไว้ ทำให้ชุมชนเสื่อมเสียภาวะที่ดีไป (Pollution) เช่น เกิดน้ำเสีย, ดินถูกปนเปื้อน และ อากาศเป็นพิษ เป็นต้น
เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สะสมของเชื้อโรคและแมลง (Breeding Places) - ขยะมูลฝอยที่ไม่ได้กำจัดให้หมดสิ้นไปหรือถูกปล่อยปละละเลย หรือไม่กำจัดให้ถูกต้อง จะเป็นแหล่งอาหาร, ที่อยู่อาศัยของหนู, สัตว์แทะต่าง ๆ หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงซึ่งจะเป็นพาหะนำโรคติดต่อต่าง ๆ มายังมนุษย์ได้
การเสี่ยงต่อสุขภาพ (Health Risk) - ชุมชนที่ไม่ได้กำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล จะทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคของระบบทางเดินอาหาร, โรคของระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
สูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Loss) - การกำจัดขยะที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง หรือทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำ, ลำคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ จะเกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำทำให้น้ำเน่าเสีย ทำให้ปลาตาย หรือสัตว์น้ำอื่น ๆ ตาย นอกจากนี้ชุมชนยังขาดน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภค จำเป็นหาน้ำสะอาดใช้ทำให้สิ้นเปลืองเงินทองโดยใช่เหตุ หรือไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้เนื่องจากจำนวนสัตว์น้ำลดลง ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้สูญเสียรายได้ทางด้านเศรษฐกิจ
เป็นเหตุแห่งความรำคาญ (Public Nuisances) - ขยะมูลฝอยที่ไม่ได้ทำการกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือปล่อยทิ้งไว้ในที่สาธารณะ เมื่อปริมาณของขยะมูลฝอยทับถมมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จะเกิดการเน่าเปื่อยซึ่งจะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนตามมา
ชุมชนขาดความสง่างาม (Esthetics) - ชุมชนที่ไม่มีการกำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล เช่นปล่อยขยะมูลฝอยทิ้งไว้ข้างถนน, ในสวนสาธารณะหรือข้างตึกแถว นานวันเข้าจะทำให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม, ไม่น่าดู, ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน

TOP


3

การแยกขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด


การนำกลับไปใช้ใหม่ (Recycling) เป็นการนำมูลฝอยหรือวัสดุเหลือใช้ไปใช้ประโยชน์อีก การคัดแยกหรือเลือกวัสดุเฉพาะอย่างออกจากกองมูลฝอยรวม จะส่งผลลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องนำไปกำจัดต่อไป วัสดุหรือขยะมูลฝอยเหล่านี้ ได้แก่ กระดาษในสำนักงาน, หนังสือพิมพ์เก่า, แก้ว, พลาสติก, เหล็ก, อลูมิเนียมหรือโลหะมีค่าอื่น ๆ เช่นทองแดง, ตะกั่วเป็นต้น ฯลฯ กลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญและบทบาทมากคือ ประชาชน, ผู้ประกอบการอาชีพต่าง ๆ , กลุ่มองค์กรท้องถิ่นที่รับผิดชอบในการกำจัดขยะมูลฝอย รวมทั้งเจ้าหน้าที่เก็บขนขยะมูลฝอย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำ รวมทั้งคนกลางผู้รับซื้อวัสดุ หรือขยะมูลฝอยที่ได้คัดแยกแล้ว และรวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่จะนำวัสดุเหล่านี้ไปใช้ หรือใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่

TOP


4
การวางแผนการดำเนินงาน


โดยขอความร่วมมือจากชุมชนเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ, ผลดี ผลเสีย และประโยชน์ที่จะได้รับจากการคัดแยกขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด (Source separation) , ขบวนการคัดแยกขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ควรรวมเข้ากับโครงการคัดแยกขยะมูลฝอย หรือวัสดุที่เป็นพิษหรือขยะอันตราย (Household hazardous waste) เข้าไว้ด้วยกัน และชี้แจงให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับชนิดของมูลฝอยที่เป็นพิษและอันตรายที่ควรแยกออกมา ได้แก่ ถ่ายไฟฉาย, กระป๋องสี, กระป๋องยาฆ่าแมลง เป็นต้น และชี้แจงประชาชนให้เห็นถึงผลเสียและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในสภาวะปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ต้องกำหนดรูปแบบและวิธีการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยที่เป็นสารพิษและอันตราย โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าและลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เช่นการจัดวางตำแหน่ง หรือภาชนะหรือถังใส่ขยะมูลฝอย โดยตั้งไว้ในที่ที่เหมาะสมในชุมชน, การจัดรถบรรทุกเข้าไปเก็บขยะที่มีพิษอันตราย ไม่ควรปล่อยทิ้งขยะที่มีพิษไว้ในชุมชนเป็นเวลานาน, อาจแบ่งเวลาการจัดเก็บเป็นทุกอาทิตย์หรือทุกเดือนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของขยะอันตรายหรือขยะพิษที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งการวางแผนงานเพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยอันตรายหรือขยะพิษที่ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

TOP


5

วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน (Integrated solid waste disposal)


การกำจัดขยะมูลฝอยที่ใช้ในปัจจุบัน มี 3 วิธี


การเผาในเตาเผา (Incineration) - เตาเผาที่สามารถเผาขยะชนิดต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ จะไม่ทำให้เกิดกลิ่น และควัน รบกวน, ไม่ก่อให้เกิดอากาศเป็นพิษ ความร้อนของเตาเผาขยะที่ใช้โดยทั่วไปคือระหว่าง 676 -1100 องศาเซลเซียส, ณ ที่ความร้อน 676 องศาเซลเซียส จะช่วยทำให้ก๊าซที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะถูกเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์, ที่อุณหภูมิ 760 องศาเซลเซียส จะทำให้การเผาไหม้ไม่มีกลิ่นรบกวน อย่างไรก็ตามการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีนี้เหมาะกับขยะติดเชื้อบางชนิด เช่น ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล

TOP



6

วิธีฝังกลบขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล (Sanitary landfill)

เป็นวิธีที่สามารถ ลดอันตรายต่าง ๆ ได้ดี สามารถจะกำจัดขยะมูลได้โดยไม่เหลือตกค้าง และจะไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงชนิดต่าง ๆ หนู และสัตว์แทะ
การกำจัดขยะโดยวิธีนี้มี 2 รูปแบบ คือ
วิธีฝังกลบแบบขุดเป็นร่อง (Trend Method)
เหมาะสำหรับพื้นที่ซึ่งเป็นที่ราบ โดยขุดดินเป็นร่องลึก 2-3 เมตร ผนังด้านข้างควรทำมุม 30 องศากับแนวระดับ ก้นร่องควรกว้างประมาณ 3-10 เมตร ดินที่ขุดขึ้น จะกองไว้ข้าง ๆ เพื่อสะดวกใน การนำมาปิดทับหน้าขยะ เมื่อนำขยะมาเทกองในร่อง ก็ใช้รถแทรกเตอร์เกลี่ย และบดอัดขยะให้แน่นหลังจากนั้นตักดินข้าง ๆ มาปิดทับ และบดอัดขยะด้วยรถแทรกเตอร์อีกครั้ง ดินที่นำมาบดทับหน้าขยะหนา 10-15 ซม. สำหรับความหนาของดินที่จะใช้บดอัดเพื่อปิดทับหน้าร่องควรมีความหนา 15-60 ซม. และร่องดินที่จะเตรียมขึ้นใหม่ ควรขุดให้ห่างจากร่องเดิมไม่น้อยกว่า 60 ซม.

TOP


7


วิธีฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกลบบนพื้นดิน (Area Method)


เป็นวิธีฝังกลบที่เริ่มจากระดับดินเดิม โดยไม่มีการขุดดิน โดยบดอัดขยะตามแนวราบก่อน แล้วค่อยบดอัดทับในชั้นถัดไปจนถึงระดับที่กำหนดไว้ ทำคันดินตามแนวของพื้นที่ก่อน เพื่อทำหน้าที่เป็นผนังหรือขอบยัน สามารถป้องกันน้ำเสียที่เกิดจากการย่อยสลาย ไม่ให้น้ำเสีย ซึมออกด้านนอก ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม หรือที่มีระดับน้ำ ใต้ดินสูงหรือน้ำใต้ดินอยู่ต่ำกว่าผิวดินเล็กน้อย (ไม่เกิน 1 เมตร) ไม่สามารถขุดดินเพื่อกำจัดด้วยวิธีกลบแบบขุดร่องได้ เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำโสโครกจากขยะต่อน้ำใต้ดิน

การทำปุ๋ยหมัก (Composting) การกำจัดมูลฝอยโดยวิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมทำต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะประโยชน์ที่ได้คือปุ๋ยอินทรีย์ สามารถนำไปใช้ในด้านเกษตรกรรม เช่นใช้เป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้ได้เป็นอย่างดี

TOP


8


วิธีการทำปุ๋ยหมัก (Composting)


คัดแยกเอาขยะที่ไม่มีคุณค่าที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยออก เช่น เศษกระป๋อง แก้ว โลหะ และถุงพลาสติก ฯลฯ เหลือเฉพาะขยะที่สามารถจะถูกย่อยสลายโดยเชื้อจุลินทรีย์ได้
ทำให้ขยะเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยส่งเข้าเครื่อง หั่น บด
ขยะจะถูกนำไปเข้าถังหมัก ถ้าเป็นระบบใช้อากาศย่อยสลาย จะเป็นถังเปิดให้มีการระบายอากาศเข้าออกได้สะดวก ถังหมักจะเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เป็นแถว ๆ มีประมาณ 5 ชั้น โดย
ขยะที่เข้ามาในครั้งแรกจะอยู่ถังชั้นบนสุด
เมื่อหมักครบ 1 วัน จะถูกพลิกกลับถ่ายลงถังซึ่งอยู่ในชั้นล่างถัดไปขนาดถังหมัก ลึกประมาณ 0.90 - 1.20 ม. X 2.5 - 3.0 ม. ด้านข้างของถังหมักจะทำเป็นรูโดยรอบ เพื่อให้มีการระบายอากาศได้รอบถัง จะช่วยให้จุลินทรีย์ทำปฏิกิริยาย่อยสลายได้มากที่สุด
ระยะเวลาของการย่อยสลายโดยระบบที่ใช้อากาศ (Aerobic Process) นี้ใช้เวลาประมาณ 5-6 วัน ก็จะทำให้เกิดการย่อยสลายของอินทรีย์สารได้ค่อนข้างสมบูรณ์
ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหมัก จะทำให้พวกเชื้อโรคที่ติดมากับขยะหยุดการเจริญเติบโต และตายไปได้ ขยะที่หมักโดยสมบูรณ์นี้ จะมีความปลอดภัยมากพอที่จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์
อีกวิธีหนึ่งที่เลือกใช้ในการหมักขยะพวกที่มีความชื้นสูง คือ ระบบหมักไร้อากาศ (Anaerobic Process) คือเป็นการหมักขยะชนิดทีไม่ต้องใช้อากาศหรือ ออกซิเจนในการย่อยสลาย จึงต้องหมักในถังปิด การหมักใช้เวลานานกว่าวิธี Aerobic Process ปรกติจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน จะย่อยสลายขยะได้สมบูรณ์ จึงจะนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ เช่นกัน
นอกจากจะใช้วิธีกำจัดขยะมูลฝอยชนิดต่าง ๆแล้ว แผนการลดขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด และการนำมูลฝอยกลับไปใช้ใหม่ จะทำให้แผนการกำจัดมูลฝอยโดยรวมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

TOP


9


เอกสารอ้างอิง

 


ฝ่ายโรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม, กองโรงงานกำจัดมูลฝอย. สำนักรักษาความสะอาด. การกำจัดมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร, เอกสารอัดโรเนียว, 2545.
สำนักรักษาความสะอาด กรุงเทพมหานคร. การจัดการขยะมูลฝอยของ กทม, 2543.
พิชิต สกุลพราหมณ์. การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม. บารมีการพิมพ์:กรุงเทพฯ, 2525.
ฉันทนา ลิ้มนิรันดร์กุล. การแยกประเภทขยะมูลฝอย.วารสารอนามัยสิ่งแวดล้อม 2540;1:46- 53.
ทิพวรรณ แผ้วสกุล. ขยะมูลฝอยอันตรายที่เกิดจากบ้านเรือน. วารสารอนามัยสิ่งแวดล้อม2540;2:53-5.
Tchobanoglous G, Theisen H, Vigil SA.Integrated solid waste management:engineering, principles and management . McGraw-Hill, Inc. :New York,1993.

                                                          

TOP